จับตา“มิว”โควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่
จับตา “มิว” โควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ เป็นยังไง แล้วต้องกังวลขนาดไหน
ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) แบ่งสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. โควิดกลายพันธุ์กลุ่ม variant of concern (VOC) คือโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีความน่ากังวล ได้แก่ โควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) โควิดสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) โควิดสายพันธุ์แกมมา (บราซิล) และโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)
2. โควิดกลายพันธุ์กลุ่ม variant of interest (VOI) คือโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในความน่าสนใจ ได้แก่ โควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย) โควิดสายพันธุ์อีตา (เจอครั้งแรกในหลายประเทศ) โควิดสายพันธุ์ไอโอตา (สหรัฐฯ) โควิดสายพันธุ์แคปปา (อินเดีย) และโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา (เปรู)
ทำไมโควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย) ถึงอยู่ในความน่าสนใจของ WHO
โควิดสายพันธุ์มิว มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบียช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 โดยได้ชื่อตั้งต้นว่าโควิดสายพันธุ์ B.1.621 และมีการกลายพันธุ์ทั้งหมด 50-60 ตำแหน่ง ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่สำคัญ 5 ตำแหน่งคือ
- P681H ส่งผลให้การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธ์ุมิวนั้นเกิดเร็วขึ้น โดยสามารถพบลักษณะการกลายรูปแบบนี้ได้ในโควิดสายพันธุ์อัลฟา
- E484K และ K417N ส่งผลให้เชื้อโควิดสายพันธุ์มิวสามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ โดยสามารถพบลักษณะการกลายรูปแบบนี้ได้ในโควิดสายพันธุ์เบตา ที่ทำให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นมีประสิทธิภาพลดลง
- R346K และ Y144T ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเนื่องจากยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ไหนที่กลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว
โดยมีการค้นพบเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวแล้วมากกว่า 40 ประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของการติดเชื้อโควิดทั่วโลก แต่ในกรณีของประเทศโคลอมเบีย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างชิลี โควิดสายพันธุ์มิวได้กลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่พบได้มากถึงประมาณร้อยละ 40 แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการตรวจพบเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวในประเทศไทย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสนใจในเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของความแตกต่างทางด้านพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโควิดที่ง่ายมากขึ้น เป็นโรคโควิดที่รุนแรงมากขึ้น และเชื้อโควิดนั้นแพร่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้น จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขในวงกว้างหรือไม่
แล้วความน่ากังวลต่อโควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย) มีมากขนาดไหน
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าโควิดสายพันธุ์มิวมีการกลายพันธุ์ที่หลายตำแหน่ง อาจส่งผลให้การรักษาโรคโควิดในปัจจุบันนั้นอาจไม่ครอบคลุมหรือดีพอที่จะกำจัดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวนี้ได้ รวมไปถึงในกรณีคนที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดแล้ว ทั้งจากการรับวัคซีนโควิด หรือจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ นั้นก็อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวนี้ได้
วิธีการรับมือกับโควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย)
ลำพังแค่การฉีดวัคซีนโควิดครบโดส หรือเคยติดเชื้อโควิดมาก่อนนั้นอาจไม่สามารถรับมือกับโควิดสายพันธุ์มิวได้ดีเท่าไหร่ ดังนั้นทุกคนควรจะปฏิบัติตัวแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด เช่น
- มีการทำความสะอาดมือและพื้นผิวอยู่ตลอด
- สวมใส่หน้ากากที่คลุมบริเวณปากและจมูกอย่างมิดชิด
- งดไปในที่แออัด หรือที่ระบายอากาศไม่ดี เว้นระยะห่างทางสังคม
- งดการดื่มน้ำหรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ
- เลี่ยงการรับประทานยาหรือสมุนไพรที่ไม่ทราบฤทธิ์ หรือไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าช่วยป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้
- หากมีโรคประจำตัวให้รับประทานยาเดิมอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดผ่านระบบทางไกล
ถ้าหากมีอาการไม่สบายตัว หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ให้แยกตัวจากผู้อื่น หาชุดตรวจแอนติเจนที่ได้ผลเร็ว (Antigen test kit; ATK) หรือไปที่จุดตรวจโรคทางเดินหายใจในสถานพยาบาล หรือจุดให้บริการในชุมชนที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมชนิดพีซีอาร์ทันที
ข้อมูลโดย
อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล