รวม 6 สายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ควรระวัง


แม้ในปัจจุบันสายพันธุ์เดลตาจะยังเป็นสายพันธุ์โควิด-19หลักที่แพร่ระบาดหนักไปทั่วโลก แต่สิ่งที่เรายังคงต้องจับตาคือการกลายพันธุ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาของเชื้อไวรัส เพราะหากพูดตามหลักวิทยาศาสตร์และกฎธรรมชาติทั่วไป ไวรัสถือเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ต้องมีการพัฒนาเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ จนล่าสุดได้มีการค้นพบ โควิด19 สายพันธุ์ใหม่ ถึง 6 สายพันธุ์ ที่ระบาดไกลและรวดเร็วจนโลกต้องจับตา

สายพันธุ์เดลตา พลัส (Delta Plus หรือ AY.1)
สายพันธุ์โควิด-19 ย่อยที่ขยายมาจากสายพันธุ์เดลตาปกติ ถูกค้นพบครั้งแรกในยุโรปและเริ่มแพร่ระบาดหนักในอินเดีย ทั้งยังถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์หนักที่น่ากังวลระดับโลก เพราะมีความสามารถในการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และมีผลต่อการยึดเกาะเซลล์ในปอดง่ายขึ้นด้วยความรุนแรงของเชื้อ ซึ่งปัจจุบันกระจายรวดเร็วและยึดครองไปแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลก

สายพันธุ์เดลตา 4 สายพันธุ์ย่อย (AY.4, AY.6, AY.10, AY.12)
คือ โควิด19 สายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์แยกย่อยจากสายพันธุ์หลักมาอีกที แม้จะยังไม่ถูกยกระดับให้เป็นสายพันธุ์โควิด-19ที่ต้องจับตาในระดับโลก เพราะยังไม่พบความรุนแรงและการกระจายของเชื้อยังค่อนข้างเป็นวงแคบ แต่จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลตา ยังทำให้ทราบต่อไปว่าได้มีการกลายพันธุ์จากเดลตาสายพันธุ์หลักไปเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ อีกกว่า 27 สายพันธุ์ แต่ยังคงมีอาการแสดงไม่ต่างจากสายพันธุ์หลัก จึงต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

สายพันธุ์โควิด แลมบ์ดา (Lambda หรือ C.37)
สายพันธุ์โควิด19 ที่แม้จะยังไม่พบในไทย แต่ได้แพร่กระจายไปแล้วกว่า 30 ประเทศ ด้วยความสามารถของการแพร่เชื้อที่รวดเร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลตา ทั้งยังมีผลต่อประสิทธิภาพของแอนติบอดีบางตัวที่ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสได้อีกด้วย แลมบ์ดาจึงถูกจับตาให้เป็นสายพันธุ์เฝ้าระวังการแพร่เชื้อในอนาคต และมีแนวโน้มว่าอาจถูกยกให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่อไปได้

สายพันธุ์โควิด เอปซิลอน (Epsilon หรือ B.1.427 และ B.1.429)
สายพันธุ์โควิดที่พบการระบาดอยู่ใน 44 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป โดยได้มีการระบุลักษณะของสายพันธุ์เอปซิปลอนไว้ว่ามีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ปกติราว 18.6-24.6% รวมถึงงานวิจัยในสหรัฐฯ ยังพบว่าเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีความสามารถพิเศษในการหลบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด mRNA ลดลงได้ และล่าสุดองค์การอนามัยโลกก็ได้ยกระดับให้เอปซิลอนเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่น่าจับตาในที่สุด

สายพันธุ์โควิด โคลอมเบีย (Colombia หรือ B.1.621)
​หรือในอีกชื่อที่หลายคนเริ่มได้ยินกันบ่อยขึ้น อย่าง “สายพันธุ์มิว” โควิดสายพันธุ์ล่าสุดที่องค์การอนามัยโลกยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการดื้อต่อวัคซีนโควิด-19 ด้วยลักษณะการกลายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติในการหลบหนีจากภูมิคุ้มกัน จึงเป็นสายพันธุ์ที่ต้องศึกษาเพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น ซึ่งล่าสุดพบสายพันธุ์มิวแล้วอย่างน้อย 40 ประเทศ

สายพันธุ์โอไมครอน หรือโอมิครอน (Omicron หรือ B.1.1.529)
โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ล่าสุดที่ถูกค้นพบก่อนช่วงสิ้นปี 2021 ที่ผ่านมาในแถบแอฟริกาใต้ และลุกลามบานปลายกระจายไปหลายประเทศในเวลานี้ ด้วยความสามารถในการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนาม มากถึง 32 ตำแหน่ง จากจำนวนการกลายพันธุ์ของยีนกว่า 50 ตำแหน่ง ทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น บวกกับอาการติดเชื้อที่ยังไม่ชัดเจนเท่าสายพันธุ์อื่น จนมีความเป็นไปได้ว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา และส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบันให้ลดลงโดยปริยาย ‘โอไมครอน’ จึงเป็นโควิด19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวังอย่างตั้งใจ

รวมถึงโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่าง B.1640.1 ที่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแคเมอรูน และพบว่ากำลังเป็นคลัสเตอร์ขนาดเล็กอยู่ในประเทศฝรั่งเศสขณะนี้ แถมหลบหนีภูมิคุ้มกันได้เก่งไม่แพ้โอมิครอน ที่อาจกำลังขยายอาณาจักรในหน้าตาแปลกใหม่ รอให้เราได้ค้นพบและทำความเข้าใจอยู่อีกมาก แม้เราจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าต้องใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้ แต่การเฝ้าระวังและรู้เท่าทันตัวเชื้อร้ายยังเป็นสิ่งที่เราอาจต้องเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดเช่นเดียวกัน