“โควิด19” ระบาด ช่วง ฤดูหนาว

 “โควิด19” ถึงกลับมาระบาด ระลอกใหม่ ในช่วง ฤดูหนาว หลังพบยอด ผู้ติดเชื้อ เพิ่มขึ้น คาดสูงขึ้นถึงต้นปีหน้า พร้อมจับตา สายพันธุ์ลูกผสมที่มีการกลายพันธุ์ออกมา…

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด19” ที่ดูจะเริ่มเบาบางลงในช่วงเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม ซึ่งถือว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงในช่วงปลายฤดูฝนนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วง ฤดูหนาว ในเดือนพฤศจิกายน กลับพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมียอดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของแพทย์หลายท่าน

เมื่อ “โควิด19” เข้าสู่โรคประจำฤดูกาลแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่จะต้องมีมากขึ้น เพราะมาตรการที่มีการผ่อนคลายลง รวมไปถึงการป้องกันที่ดูจะลดลงตามไปด้วย ยิ่งเมื่อเข้าสู่ ฤดูหนาว ตามสภาพอากาศ ที่เชื้อไวรัส สามารถอยู่ได้นานและแพร่กระจายได้มากขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ยอดผู้ติดเชื้อ “โควิด19” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งจากตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุด จาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทย พบผู้ป่วย “โควิด19” รวม 3,166 ราย เฉลี่ย 452 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 12.8% มีผู้เสียชีวิต 42 ราย แนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว

ซึ่งทาง กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งโครงการรณรงค์ฉีด วัคซีนโควิด โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็ก และเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต

โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า มี วัคซีน เพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 4 เดือนขึ้นไป มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่หน่วยบริการวัคซีนใกล้บ้าน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียม ยาต้านไวรัส เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้เพียงพอ เพื่อรองรับการระบาดของโรค

เตือน ซุปโอไมครอน อาจนำระบาดระลอกใหม่

ด้าน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูลถึง ซุปโอไมครอน (A soup of omicron subvariants) ซึ่งถูกเรียกขานมาจากผู้เชี่ยวชาญ “โควิด19” ทั่วโลกบ่งชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายตามธรรมชาติของการกลายพันธุ์ของ ไวรัสโคโรนา 2019 ที่เปลี่ยนไปในยุคของ โอไมครอน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ (new wave) ในแต่ละภูมิภาคด้วยสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน