โลกยังมีโควิด-19 “กระจอกเอาอยู่”

อัปเดต “ยา” ที่ใช้รักษา “โควิด–19” Murakami N และคณะ ได้ทบทวนข้อมูลวิชาการแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 ทั้งยาต้านไวรัส…

17 ตุลาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” บอกว่า ควบคุม มิใช่ติดตาม…สุขภาพมิอาจต้านทาน…มัวเมา โง่เขลา มิอาจรู้…ประเทศชาติ มิอาจละเลย

“ฤดูหนาวจะหนาว…จิตสำนึกด้านสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ…”

ท่ามกลางที่เรายังต้องอยู่กับ “โควิด–19” แนะนำว่า ผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด…รวมถึงญาติที่มาเยี่ยมหรือเฝ้าไข้…ควรได้รับการคัดกรองโรคจากประวัติ อาการ และตรวจ ATK เพื่อป้องกันทั้งตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยเดียวกัน ญาติและบุคลากรทางการแพทย์

“หากหน่วยงานไม่มีกฎระเบียบดังกล่าว ผู้ป่วย ญาติ บุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยงานควรเรียกร้องสิทธิ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน”

วันนี้จะเห็นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่าแตกหน่อต่อยอดไปมาก เกินกว่าสายพันธุ์ก่อนๆที่เคยระบาดมา

อัปเดต “ยา” ที่ใช้รักษา “โควิด–19” Murakami N และคณะ ได้ทบทวนข้อมูลวิชาการแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 ทั้งยาต้านไวรัส ยาต้านการอักเสบ ยาแอนติบอดีชนิดต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ยาต้านไวรัสมาตรฐานที่ใช้รักษาโรคโควิด–19 ได้แก่ Paxlovid (เริ่มให้ยาภายใน 5 วันหลังจากเริ่มมีอาการ), Remdesivir (เริ่มให้ยาภายใน 7 วันหลังจากเริ่มมีอาการ), และ Molnupiravir (เริ่มให้ยาภายใน 5 วันหลังจากเริ่มมีอาการ)

ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ “ลองโควิด” ในแคนาดา (17 ตุลาคม 2565) Statistics Canadaประเทศแคนาดาได้เผยแพร่ผลการสำรวจสถานการณ์ พบว่ามีประชากรราว 4.6% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ จำนวนสูงถึง 1.4 ล้านคน ที่ประสบปัญหา “ลองโควิด”

โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในแคนาดาจะมีปัญหาลองโควิดราว 15% ทั้งนี้เพศหญิงมีอัตราการเกิดปัญหามากกว่าเพศชาย แม้แต่ละประเทศจะเอาสถิติมาเทียบกันตรงๆไม่ได้เนื่องจากมีความแตกต่างของปัจจัยแวดล้อมอยู่มาก แต่ด้วยข้อมูลปัจจุบัน อัตราความชุกของภาวะลองโควิดในแต่ละประเทศก็ตอกย้ำให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาว

“…การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นกิจวัตร จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก”

โลกยังมีโควิด-19 "กระจอกเอาอยู่" ไม่มี

รศ.นพ.ธีระ บอกอีกว่า “สัจธรรมชีวิต” ฝึกคนที่ไม่เก่งให้เก่งขึ้นนั้น…ทำได้ไม่ยาก สอนพวกที่โกหกจนเป็นกิจวัตรให้ไม่โกหก…ทำได้ยากกว่า อบรมให้พวกที่ไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อบาป ให้รู้ผิดชอบชั่วดี…ทำได้ยากขึ้นไปอีก และต้องใช้เวลาปลูกฝังยาวนาน แม้แต่เป็นบิดามารดายังทำได้ยาก

แต่การจะเปลี่ยนแปลงพวกที่มีปัญหาทั้งสามเรื่องพร้อมกันนั้น… แทบเป็นไปไม่ได้เลย สามปัญหาที่หากมีพร้อมกัน จะเป็นภาวะคุกคามที่อันตรายยิ่งต่อคนในสังคม ไม่ว่าจะที่ใดในโลก

ฉันใดก็ฉันนั้น ให้นึกถึงถ้อยคำอันฉ่ำหวานราวน้ำผึ้งอาบยาพิษที่เคยได้ยินกับผลแห่งความจริงที่ปรากฏ อาทิ “กระจอก”…เท่ากับร้ายกาจ “เอาอยู่”…เท่ากับตัวใครตัวมัน “ธรรมดา”…เท่ากับเละเทะ “เพียงพอ”…เท่ากับสำหรับใครบางคนบางพวก “ไม่มี”…เท่ากับมีดาษดื่นไปแล้วแต่ไม่บอก

“ไม่ปกปิด”…เท่ากับเปิดเท่าที่อยากเปิด เปิดยามที่อยากเปิด

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่สังคมโลกไม่ควรยอมรับและต้องทำทุกทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพ สวัสดิภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของคนในสังคม

อัปเดตสถานการณ์ระบาดในเยอรมนี สถานการณ์ไอซียู…ผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในไอซียู ครองเตียงไปแล้วมากถึง 19,232 เตียงจากจำนวนที่มีอยู่ 22,729 เตียง คิดเป็น 84.61% ทั้งนี้มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 30.21% ของจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิดที่อยู่ในไอซียู

โลกยังมีโควิด-19 "กระจอกเอาอยู่" ไม่มี

การระบาดในสิงคโปร์…Hartono S นำเสนอข้อมูลชี้ให้เห็นว่า XBB กำลังครองการระบาดระลอกที่สามของปีนี้ โดยมีสัดส่วนเกินครึ่ง และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกนี้จะมากกว่าระลอกก่อนที่เกิดจาก BA.5 …ทั้งนี้ระลอกก่อนมีอัตราการติดเชื้อซ้ำราว 5% แต่ระลอก XBB ขณะนี้มีอัตราติดเชื้อซ้ำมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า

และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่านี้ ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งสมรรถนะของไวรัสเอง รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันในประชากรที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นภูมิจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อมาก่อนก็ตาม

พุ่งเป้าไปที่ประเด็นสมรรถนะของ “ไวรัสกลายพันธุ์” ข้อมูลจาก Wenseleers T เบลเยียม ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ ทั้ง XBB, BQ.1.1, BA.2.75.2, BA.4.6, BF.7 นั้น มีสมรรถนะในการขยายการระบาดสูงกว่าตระกูล BA.5.X เดิม ไม่ว่าจะทวีปใดก็ตาม ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย โอเชียเนีย

พัฒนาการของไวรัสยามเปิดเสรีใช้ชีวิต Turville T (ออสเตรเลีย) วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ อ้างอิงจากการวิจัยทีมงานเผยแพร่ในวารสาร Nature Microbiology (30 พ.ค.2565) โดยประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทำให้ไวรัสมีการแพร่เชื้อจำนวนมาก อาจทำให้สมรรถนะของไวรัสโรคโควิด-19 หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม

…จากเดิมที่ไวรัสพยายามหลบหลีกภูมิคุ้มกันและเปลี่ยนแนวทางการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์จนทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง แต่อิสระในการแพร่เชื้อที่มีในปัจจุบัน จะทำให้ไวรัสที่กลายพันธุ์อาจกลับไปใช้กระบวนการจับกับตัวรับ TMPRSS2 ที่พบมากในปอด และนำไปสู่การป่วยรุนแรงมากขึ้นได้

โลกยังมีโควิด-19 "กระจอกเอาอยู่" ไม่มี