เช็กอาการ โควิดลงปอด
เพราะไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่มีเป้าหมายมุ่งตรงเข้าทำลายปอด อวัยวะที่ทำหน้าที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ …

เพราะไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่มีเป้าหมายมุ่งตรงเข้าทำลายปอด อวัยวะที่ทำหน้าที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบไหลเวียนเลือดในปอดและร่างกายทุกระบบ เมื่อเชื้อ ‘โควิดลงปอด’ จึงทำให้การทำงานของปอดผิดปกติ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นวิกฤติจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ชวนมาทำความเข้าใจ… เช็กอาการโควิดลงปอดยังไง หากสงสัยเชื้อโควิดลงปอด ?
เช็ก 5 อาการโควิดลงปอด โควิดลงปอดควรทำอย่างไรดีนะ..?
นอกจากความเล็กจิ๋วที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว ความไวและความเงียบของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นไฮไลต์สำคัญที่ทำให้เราต้องระมัดระวังและตั้งการ์ดสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หากเข้ารับการตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อ อาจเสี่ยงมีอาการรุนแรงได้มากกว่าผู้ติดเชื้อในกลุ่มทั่วไป ยิ่งในผู้ที่มีภาวะอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปอดทำงานได้น้อยลง บวกกับการติดเชื้อโควิดยิ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดโดยตรง เนื่องจากประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนก๊าซที่น้อยลง เป็นผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลงตามลำดับ โดยมีอาการแสดงต่างๆ เกิดขึ้นได้ ดังนี้
- อาการหอบเหนื่อย แม้จะทำกิจกรรมที่ไม่ได้ออกแรงมากก็ตาม
- หายใจลำบาก หายใจไม่สุด หรือหายใจได้ไม่เต็มปอด
- รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก
- อาการไอ ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ
- มีอาการไข้มากกว่า 37.5°C ขึ้นไป
พร้อมๆ กับการเช็กอาการโควิดลงปอดเบื้องต้นด้วยตนเอง ด้วยอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) ที่ไม่ควรมีระดับต่ำกว่า 95% โดยแนะนำให้ผู้ป่วยโควิดติดตามค่าออกซิเจนในเลือดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีวิธีทดสอบอื่นๆ เพื่อเช็กว่าโควิดลงปอดแล้วหรือไม่ เช่น ลุก-นั่งเป็นเวลา 1 นาที หรือกลั้นหายใจเป็นเวลา 10-15 วินาที และวัดค่าออกซิเจนในเลือดทันที หากมีระดับต่ำกว่า 94% และมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย ให้สงสัยเชื้อโควิดลงปอด อย่างไรก็ตามอาการโควิดลงปอด หรือปอดอักเสบโควิด สามารถพบได้ประมาณ 50-70% ของผู้ที่ติดเชื้อ การสังเกตอาการตัวเองเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรทำสม่ำเสมอ

วิธีรักษาเมื่อเชื้อโควิดลงปอด
หากมีอาการต้องสงสัยว่าเข้าข่ายเชื้อโควิดลงปอด แพทย์จะทำการยืนยันผลตรวจโดยการทำเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) เพื่อเริ่มต้นขั้นตอนการรักษา ซึ่งเป็นการให้ยาตามลักษณะอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อยับยั้งความรุนแรงและการกระจายตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังอวัยวะอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโควิดสามารถดูแลตัวเองอาการโควิดลงปอดเบื้องต้นก่อนเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยตรงก่อนได้ ดังนี้
- ปรับท่านอนช่วยเพิ่มออกซิเจนในปอดในท่านอนคว่ำ นอนตะแคง และท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน (30 นาที- 2 ชม.)
- ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวขาบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด และป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ประมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวัน และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์เพียงพอ
- สำหรับผู้ที่มียาประจำตัวให้รับประทานอย่างสม่ำเสมอ กรณีมีโรคความดันโลหิตสูงควรวัดความดันต่อเนื่อง
รวมถึงการเตรียมยาและอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เช่น ยาลดไข้ และเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว ควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพโดยเฉพาะการรับประทานยาสมุนไพรต่างๆ ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าสังเกตอาการตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยระดับสีเขียวก็ควรเฝ้าระวัง และป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอดระหว่างรักษาตัวเช่นเดียวกัน
สายด่วนช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่อยู่ระหว่างรอเตียง1668 สายด่วนกรมการแพทย์1669 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1330 (ต่อ 14) สายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)1442 สายด่วนกรมควบคุมโรค |
รักษาโควิดจนหาย ปอดจะเป็นยังไงต่อจากนี้ ?
ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจได้ยินชื่อของภาวะ Long COVID หรือ Post COVID กันมาบ้าง ซึ่งเป็นอาการหลงเหลือจากโควิดที่ผู้ป่วยจะยังรู้สึกเหมือนตัวเองยังติดเชื้ออยู่ และอาจพบได้ประมาณ 30-50% ของผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายไปแล้ว และจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 3-4 เดือน ในส่วนของผู้ป่วยโควิดที่เชื้อลงปอดแต่รักษาหายแล้ว หากถามว่าปอดจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมเลยหรือไม่ ต้องอธิบายว่าโดยปกติของผู้ที่เคยมีประวัติการป่วยด้วยโรคปอดมาก่อนมักมีร่องรอยของโรคหลงเหลือไว้ ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการแต่ละคน เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโควิดที่เชื้อลงปอดแล้ว ยังต้องขึ้นอยู่กับความหนักเบาที่เกิดขึ้น หากเป็นการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย อาจใช้เวลาฟื้นฟูเล็กน้อยเพื่อให้ปอดกลับมาเป็นปกติ แต่หากสภาพปอดถูกทำลายไปมาก แม้จะยังสามารถใช้งานได้แต่อาจมีประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามเราสามารถดูแลสุขภาพปอดให้แข็งแรงขึ้นได้ด้วยการฝึกบริหารปอด ฝึกหายใจลึกๆ วันละ 10 ครั้ง (หายใจเข้า-ท้องป่อง หายใจออก-ท้องแฟบ) เป็นการฝึกออกกำลังกายช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ควบคู่กับการวัดค่าออกซิเจนในเลือดอยู่เป็นระยะ ทั้งนี้ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำไม่ได้หมายถึงการติดเชื้อโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นผลจากสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลให้การทำงานของปอดลดลง หรือการทำงานของหัวใจผิดปกติร่วมด้วยได้ การทำประกันสุขภาพมิติใหม่ คุ้มครอง 4 โรคร้าย (มะเร็ง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และเบาหวาน) โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ พร้อมบริการสายด่วนสุขภาพซิกน่า 24 ชั่วโมง (24/7 Health Care Line) คอยให้บริการให้คำแนะนำโดยบุคลากรทางการแพทย์และบริการด้านสุขภาพอื่นๆ อย่างครบครัน ด้วยความห่วงใยจากซิกน่า เพื่อให้คุณสุขภาพดีและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในทุกๆ วัน